อุ้มผาง

Home

Widebase Tour
Knowledge Developer Database Internet Resource Forum
widebase tour
อุ้มผาง
ปกากะญอ
เดินทางท่องเที่ยว
 
อุ้มผาง
รู้จักอุ้มผาง
ชื่ออุ้มผาง
ตำนานอุ้มผาง
ประวัติศาสตร์ปัจจุบัน
หมู่บ้านในอุ้มผาง
สถานที่ท่องเที่ยว
 
ประวัติศาสตร์ปัจจุบัน
การต่อสู้ของชาวปกากะญอ ก่อนยุคสงครามประชาชน
ชาวปกากะญอและโพล่วอุ้มผาง กับสงครามประชาชน
ความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ หลังยุคสงครามประชาชน
ชาวปกากะญอและโพล่วอุ้มผาง กับต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบัน
 

ประมวลภาพอุ้มผาง
น้ำตกทีลอชู
ทัศนียภาพอุ้มผาง
พิพิธภัณฑ์ในอุ้มผาง
ล่องแพอุ้มผาง
บ้านกรูโบ
บ้านตะละโค่ง
น้ำตกทีโบะ
พิธีเปิดอนุสรณ์สถานสงครามประชาชน ม่งคั๋วะ

ดูรายละเอียด

ความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ หลังยุคสงครามประชาชน

หลังจากการอาวุธของชาวปกากะญอและโพล่วในอุ้มผาง เมื่อปี 2525 พวกเขากับอำนาจรัฐไทยยังมีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น สาเหตุประการหนึ่ง มาจากการนับถือศาสนาที่ต่างกัน ความขัดแย้งนี้ได้นำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งในปี 2535

ภายหลังการเข้าควบคุมพื้นที่ของทางการไทย ประชาชนที่นี่ยังคงนับถือ “เพอเจะ” ซึ่งสร้างความไม่พอใจและหวาดระวังต่อพวกเขาของตำรวจตระเวนชายแดนอย่างมาก ประกอบกับชาวโพล่วบางส่วนพึงพอใจกับวิถีชีวิตที่ราบและพยายามพัฒนาในแนวทางนั้น แต่ถูกขัดขว้างและต่อต้านจากผู้นับถือเพอเจะส่วนใหญ่ ฝ่ายแนวทางพัฒนาจึงเข้าหาฝ่ายอำนาจรัฐและสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

ประมาณปี 2527 มีผู้บำเพ็ญพรตชื่อ ทิเล่าเอง เป็นชาวโพล่ว อำเภอด่านช้าง และเป็นพวกมังสะวิรัติ ได้มาเผยแพร่ธรรมะและการได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวโพล่วแม่จันทะ พวกเขาได้ร่วมการก่อสร้างเจดีย์ดินตามแบบชาวโพล่ว แต่ได้ถูกตำรวจตระเวนชายแดนทำลายในภายหลัง โดยอ้างว่ารุกล้ำที่ทางการ พวกเขาจึงย้ายไปสร้างที่เขาจบ จากนั้นย้ายไปสร้าง ที่ทุ่งใหญ่

มีการเล่าถึงเหตุการณ์รื้อเจดีย์ดินว่า พวกนับถือเพอเจะได้เชิญตำรวจตระเวนชายแดนมาสังเกตุการณ์ในพิธี แต่ผู้ใหญ่บ้านแม่จันทะ ได้นำเอาเหล้ามาราดในบริเวณพิธีและตำรวจชุดนั้นได้เข้าทำลายเจดีย์ดิน ในกรณีข้อพิพาทที่ตั้งเจดีย์ดิน ชาวบ้านช่องเปะบอกว่าที่บริเวณนั้นเป็นสำนักศูนย์จังหวัดตากเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นยังเป็นป่า แต่ฝ่ายตำรวจตระเวนชายแดนมาอ้างสิทธิยึดไป

ความขัดแย้งระหว่างตำรวจตระเวนชายแดนกับชาวบ้านแม่จันทะส่วนใหญ่ยังดำเนินไป มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมทางลบของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก เช่น การข่มขืนลูกสาวชาวบ้าน ยิงปืนขึ้นฟ้าเมื่อเมาเหล้า จนกระทั่งเกิดข่าวลือว่า ทางการเตรียมจับกุมทิเล่าเองและผู้นับถือฤาษี ข่าวนี้ทำให้ทิเล่าเองและผู้ติดตามอีก 4 คน เป็นชาวบ้านตะละโค่ง 1 คน ช่องเปะ 1 คน เขาจบ 1 คน และห้วยหินดำ 1 คน ทำพิธีเผาตัวตาย ด้วยเหตุผลว่า เมื่อจะทำบุญและทำความดีไม่ได้ก็ขอตายดีกว่า

จนกระทั่งช่วงเกี่ยวข้าว ปี 2535 ชาวบ้านแม่จันทะ ช่องเปะ ตะละโค่ง ทิบาเก่ แต่งชุดขาว ถือดาบ เข้าโจมตีค่ายตำรวจตระเวนชายแดนแม่จันทะ มีผู้เสียชีวิตฝ่ายละ 4 คน ทางการจับกุมอดีตสหายบักสม ด้วยข้อหาผู้นำการต่อสู้ ในเรื่องนี้พระรูปหนึ่ง ขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์ตะละโค่ง เล่าว่า บักสมไม่เกี่ยวข้อง ผู้นำจริงคือเจ้าวัดช่องเปะเป็นผู้นำ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว แต่การยอมรับของบักสมเพื่อทำให้เรื่องยุติ ไม่ต้องเดือดร้อนคนอื่น

เรื่องเล่า “ มือดาบ ” มีความน่าสนใจมาก ชาวบ้านกรูโบ เล่าว่า มือดาบเชื่อว่าตัวเองมีคาถาอยู่ยงคงกะพัน แทงไม่เข้า ยิงไม่ได้ โดยพิธีเผาตัวตายของทิเล่าเองเป็นการสร้างความอยู่ยงคงกะพันให้กับผู้นับถือ ตัวทิเล่าเองมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์สั่งให้นาฬิกาหยุดเดินได้ เป็นต้น แต่การตายในระหว่างการโจมตีเป็นเพราะพวกเขายึดถือไม่มั่นคงคือ มีคนร้องอุทานเมื่อเหยียบกิ่งไม้ทำให้การถือเสื่อม ในขณะที่ ลุงบักสมบอกว่า ทิเล่าเองฆ่าตัวตายเพราะคิดว่าอยู่ไปก็ทำความดีไม่ได้ ส่วนเรื่องการอยู่ยงคงกะพัน ลุงบักสมบอกว่า พวกเขาหรือมือดาบไม่เคยคิดถึง แต่การโจมตีเกิดขึ้นเพราะข่าวว่าจะมีการจับกุมพวกนับถือเพอเจะ

ในเรื่องการอยู่ยงคงกะพันของเหตุการณ์นี้เหมือนกับกรณีชาวปกากะญอนับถือเพอเจะ ก่อการลุกขึ้นสู้กับพม่าด้วย เรื่องเล่าหลังเหตุการณ์คือ นักรบเพอเจะได้รับคาถาหนังเหนียว การโจมตีครั้งแรกสัมฤทธิ์ผล ครั้งต่อมาเป็นการรบที่เจด่ง มีผู้ถือไม่มั่นคงทำให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์เสื่อม การรบครั้งนี้มีผู้ตายและบาดเจ็บ เมื่อสอบถามจาก ลุงพะตี้ บ้านทิจอชี หมู่ 5 ตำบลแม่จัน อดีตนักรบพรรคคอมมิวนิสต์ไทยและนักรบเพอเจะคนสุดท้ายในอุ้มผาง เล่าว่า เพอะเจะองค์ที่ 7 บอกให้รวมกลุ่มป้องกันตัว แต่เมื่อรวมกลุ่มกันแล้ว บางคนบอกว่าเราจะไปรบกับพม่า จึงขออนุญาตเพอเจะไปรบ ครั้งแรกมีผู้บาดเจ็บ ครั้งหลังมีคนตายและบาดเจ็บมาก เพราะพม่าอาจจะสืบทราบมาก่อน เลยถึงมาสกัดที่สะพาน พวกเราบุกเข้าไม่ได้ มีการหาบคนเจ็บกลับมา ในเรื่องการอยู่ยงคงกะพัน ลุงพะตี้ บอกว่าไม่มี

ประเด็นการอยู่ยงคงกะพันสำหรับ 2 เหตุการณ์ดูเหมือนกับการลุกขึ้นของผีบุญที่มักจะอธิบายว่า ชาวนาที่ลุกขึ้นสู้เป็นเพราะเชื่อในเรื่องอิทธิฤทธิ์ การเล่าลักษณะนี้คล้ายกับการเล่าเรื่องของปกากะญอและโพล่ว ในเรื่องนี้อาจจะเป็นไปได้ว่า การลุกขึ้นสู้ของผีบุญ ความจริงไม่ได้คำนึงการอยู่ยงคงกะพัน แต่สู้ด้วยเจตจำนงค์ของตัวเอง การต่อสู้และเสียสละของพวกเขาอาจจะอธิบายไม่ได้ในสายตาของชาวบ้านอื่น ดังนั้นจึงมีการคำอธิบายบางอย่างถึงเหตุผลความเป็นไปได้ในการลุกขึ้นสู้

 

ปรับปรุงข้อมูล 25 ธันวาคม 2549

ปันน้ำใจโครงการนักเรียนบ้านไกล โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม


รู้จักอุ้มผางในอีกมุมมอง จัดทำโดย widebase

ดูรายละเอียด

สงวนลิขสิทธิ์ (R) widebase