![]() |
อุ้มผาง |
Widebase Tour |
|
ประมวลภาพอุ้มผาง |
|||||||||||||
ชาวปกากะญอและโพล่วอุ้มผาง กับสงครามประชาชนชาวปกากะญอในตำบลแม่จัน แม่ละมุ้ง และโมโกรได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปี 2513 หมู่บ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมได้แก่ กล้อทอ หนองเซโป ปะละทะ อุ้มผางคี หมู่บ้านที่ดำรงฐานะเป็นเขตจรยุทธคือ วะกรึโคะ วะเบยทะ ปรอพะดู่ ตะเป่อพู ยะเมะคี แม่ละมุ้งคี เดลอคี เชอทะ นอกนั้นเป็นเขตฐานที่มั่น โดยศูนย์กลางอำเภออยู่บ้านหม่องคั๋วะ ศูนย์กลางจังหวัดตาก (ตาก สุพรรณบุรี อุทัยธานี กาญจนบุรี) อยู่ที่บ้านแม่จันทะ การเข้าร่วมเกิดจากทางการไทยได้ส่งกำลังไปยึดสมบัติเพอเจะที่สำคัญ คือ งาช้างสลักเป็นพระขนาดสูง 1.70 เมตร 1 คู่ ขนาดกลางและเล็กอีกอย่างละคู่ พระพุทธรูปทองคำดำ และพระพุทธรูปอื่นๆ ลุงพินิจผู้เป็นลูกศิษย์เพอเจะในขณะนั้นได้ไปตามหาผู้ปฏิบัติงานพรรคคอมมิวนิสต์ตามคำทำนาย เพอเจะองค์ที่ 7 ว่า "มีมิตรมาทางตะวันออกที่จะช่วยพี่น้องปกากะญอและโพล่วในการต่อสู้กับศัตรู" ลุงพินิจได้ขึ้นไปที่บ้านม้ง ทุ่งนาน้อย ปัจจุบันชาวม้งถูกอพยพไปอยู่ที่พบพระ การเดินทางครั้งนี้ได้พบกับผู้ปฏิบัติงานชาวไทยชื่อ สหายเลาเล่ง จากนั้นมาชาวบ้านตลอดสายแม่จันได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผู้บุกเบิกเริ่มต้นของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย 4 คนใช้เวลาเพียง 2 ปีในการขยายเขตปฏิบัติงานทั่วทั้งอำเภออุ้มผาง ขยายไปที่ตำบลไล้โหว่ อำเภอสังขละบุรี กาญจนบุรีในปี 2516 อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี และอำเภอบ้านไร่ ในปี 2517 การขยายไปยังอำเภอด่านช้างและอำเภอบ้านไร่ เป็นการเชื่อมโยงกับชาวบ้านแม่จันทะซึ่งอพยพมาจากที่นั่นเพื่อเข้ารีต เพอเจะ พวกเขาย้ายมาประมาณ 30 ปีก่อนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ในปี 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา นักศึกษาชุดแรกได้เดินทางเข้าสู่ฐานที่มั่นจังหวัดตาก ผ่านเส้นทางเขื่อนกระเสียว มาที่กิ่งอำเภอด่านช้าง ลงรถยนต์ที่วังยาวและมีทหารของพรรคคอมมิวนิสต์มารับ แล้วนำไปทางไปข้ามห้วยขาแข้ง จนถึงบ้านกระไดช้าง จากที่นี่เดินทางข้ามทุ่งใหญ่ โดยค้างแรมกลางป่า 2 คืน บนเส้นทางนี้มีน้ำตกสวยงามมากแห่งชื่อห้วยน้ำเขียว อยู่ริมฝั่งกลอง ห่างจากบ้านจันทะประมาณ 1 วันเดินเท้าของชาวบ้าน แต่ล่องแพจากแม่จันทะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ภายหลังความขัดแย้งของประเทศสังคมนิยมในภูมิภาคนี้ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเกิดแตกแยก ทั้งระหว่างนักศึกษาและนักการเมืองที่เข้าร่วมกับพรรค และภายในพรรคเองนำไปสู่การอ่อนกำลังลง ในอุ้มผางก็มีความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่นำโดยสหายไทหรือเสกสรร ประเสริฐกุล กับองค์กรนำของพรรค ความขัดแย้งจบลงด้วยการที่ เสกสรร ประเสริฐกุล จีรนันท์ พิตรปรีชา และวิชัย บำรุงฤทธิ์ ต้องออกจากป่าพร้อมกับนักศึกษาอีก 18 คน บางฉากของ คนล่าจันทร์ ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนต์เรื่อง "14 ตุลา สงครามประชาชน" คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง แต่มีการตีความแตกต่างกันไป เช่น การถูกลอบยิงจากทหารฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเดินทางออกมาตอนจบของเรื่องเป็นเพียงความรู้สึกหวาดระแวง กลัวการถูกทำร้าย ทั้งที่การสังหารพวกเขาสามารถทำได้ตั้งแต่บ้านแม่จันทะไม่ต้องไปลอบยิงภายหลัง ภาพยนต์เรื่องนี้สร้างความเสียใจให้กับชาวปกากะญอและโพล่วแถบนี้อย่างมาก ทุกคนบอกว่าพวกเขาไม่เคยคิดทำร้ายสหายไทและนักศึกษา อย่างไรก็ตาม พวกเขายังถามถึงสหายไทหรือเสกสรร ประเสริฐกุล หลายคนมีความยินดีที่เขาเป็นตะล่าพะโด่ (อาจารย์ใหญ่) ในที่สุดสงครามประชาชนของจังหวัดนี้จึงปิดฉากลง รวมเวลา 16 ปี นับตั้งแต่การแตกเสียงปืนครั้งแรกในปี 2509 ที่แม่สอด จนถึงการวางอาวุธปี 2525 เพื่อรำลึกถึงสงครามประชาชน ชาวปกากะญอ โพล่ว ม้ง และไทย รวมถึงอดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมการต่อสู้ในจังหวัดตาก ได้ร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถานประวัติศาสาตร์ที่บ้านหม่องคั๋วะ
ปรับปรุงข้อมูล 25 ธันวาคม 2549 |
|||||||||||||
สงวนลิขสิทธิ์ (R) widebase |