ปกากะญอและโพล่ว

Home

Widebase Tour
Knowledge Developer Database Internet Resource Forum
widebase tour
อุ้มผาง
ปกากะญอและโพล่ว
เดินทางท่องเที่ยว
 
ปกากะญอและโพล่ว
ความเชื่อและศีลธรรม
ประเพณี
วิถีชีวิต
 
ความเชื่อและศีลธรรม
ความเชื่อ
ขวัญ
สัตว์ในโลกทัศน์ของ ชาวปกากะญอและโพล่ว
ศีลธรรมของเพอเจะ
 

ประมวลภาพอุ้มผาง
ประเพณีปีใหม่เพอเจะ
งานบุญกวนน้ำนมข้าว
งานศพ
วิถีชีวิตชาวปกากะญอ 1
วิถีชีวิตชาวปกากะญอ 2

ดูรายละเอียด

สัตว์ในโลกทัศน์ของ ชาวปกากะญอและโพล่ว

ในงานศึกษาเรื่อง ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง ศึกษากรณีชุมชนกะเหรี่ยง ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (1) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวปกากะญอและโพล่วกับสัตว์ ใน 2 มิติ

มิติแรก ความเป็นไปตามธรรมชาติ อันมีนัยถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมชาตินั้น สัตว์มีสัญชาตญาณการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่ไวกว่ามนุษย์ พฤติกรรมของสัตว์ที่ปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจึงเป็น "ลางบอกเหตุ" ให้มนุษย์เตรียมพร้อมตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงคือเรื่องเกี่ยวกับฝน อันถือหัวใจของทำไร่ สัตว์ที่เป็นลางบอกเหตุเกี่ยวกับผนฟ้าจึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่างเช่น

เมื่อเริ่มฤดูกาลหยอดข้าว ชาวกะเหรี่ยงจะรู้ว่าฝนตกหรือไม่ จากการสังเกตุ หิ่งห้อย ซึ่งจะบินขึ้นสูงจากพื้นดินเมื่ออากาศเริ่มชื้นแฉะ หรืออาจจะฟังจากเสียงกบที่ร้องระงมอยู่ในป่า

ปีใดข้าวจะดีหรือไม่ ขึ้นกับว่าฝนตกชุกหรือแล้ง การดูฝนนั้นคนกะเหรี่ยงจะดูจาก "ลางบอกเหตุ" หลายชนิด เช่น ลักษณะการไข่ของ ตะกวด หากตะกวดไข่อยู่เหนือจอมปลวก แสดงว่าปีนั้นฝนจะตกหนักและน้ำจะท่วมมาก หากตะกวดไข่อยู่กลางจอมปลวกฝนจะตกปานกลาง และถ้าไข่อยู่ที่ฐานจอมปลวกแสดงว่าฝนจะตกน้อย หรือสังเกตจาก เก้งและชะนี หากร้องอยู่บนเขา ปีนั้นจะตกไม่ชุก แต่ถ้าร้องอยู่ที่ริมน้ำหรือลำห้วย ปีนั้นฝนจะตกชุก หรืออาจจะรู้ได้จากนก เช่น ในช่วงฝน หาก นกแต้วแร้ว ทำรังบนพื้นดิน แสดงว่าปีนั้นฝนไม่มากและน้ำไม่ท่วมมาก ถ้าทำรังบนต้นไม้ แสดงว่าปีนั้นน้ำจะท่วม ตลอดจนการสังเกตลมฝน เช่น นกแซงแซว ไข่อยู่ปลายกิ่งไม้ แสดงว่าลมไม่แรง แต่หากทำรังและไข่อยู่ที่โคนกิ่งไม้แสดงว่าลมจะแรงเป็นต้น

มิติที่ 2 ความเป็นไปทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจมองเห็นหรือล่วงได้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่สัตว์ซึ่งมีสัญชาตญาณอันละเอียดอ่อนกว่าสามารถรับรู้ได้ สัตว์จึงเป็นเสมือน "สื่อกลาง" หรือ "ตัวสื่อสาร" ให้มนุษย์ได้ล่วงรู้ถึงความเป็นไปอันได้เกิดขึ้น หรือจะเกิดขึ้น

เชื่อกันว่า พฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากปกติของสัตว์ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงลางร้าย ตัวอย่างเช่น เสียงชะนีร้องโหยหวนในเวลากลางคืน เชื่อกันว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เสียงนกเขาขัน กะรอกร้อง ในยามค่ำคืน เชื่อว่าจะมีหญิงสาวหรือชายหนุ่มตายในหมู่บ้าน คนกะเหรี่ยงจะทำพิธีในทันทีที่ได้ยินเสียงเตือนจากสัตว์ดังกล่าว เพื่อบรรเทาภัยหรือเหตุร้ายนั้น ในกรณีที่ชะนีร้องในตอนกลางคืน ในกรณีชะนีร้องในตอนกลางคืน คนในหมู่บ้านจะทำเหมือนอพยพออกไปจากหมู่บ้านในคืนนั้น โดยขนที่นอนหมอนมุ้งออกไปนอนในป่า ทิ้งให้คนเฒ่าคนแก่ไม่กี่คนเฝ้าหมู่บ้าน หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็จะกลับเข้ามา โดยก่อนที่จะเข้าหมู่บ้านจะร้องถามคนเฒ่าคนแก่ว่า เหตุการณ์ดีขึ้นหรือยัง คนเฒ่าคนแก่จะร้องตอบว่าดีขึ้นแล้ว และเรียกให้เข้ามาในหมู่บ้านได้ ในกรณีนกเขาขันและกะรอกร้องในตอนกลางคืน จะทำพิธีเรียกขวัญให้กับหนุ่มสาวในหมู่บ้านทุกคน

นกทูส่อง (นกขุนแผนแดง) หรือที่คนกะเหรี่ยงบางคนเรียกว่า นกสัญญาณเตือนภัย โดยธรรมชาติแล้วเป็นนกที่ไม่ค่อยร้อง การร้องของนกทูส่องจึงถูกเชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุ คนกะเหรี่ยงเชื่อว่าหากร้องทักทางขวามือบอกถึงลางไม่ดี แต่หากร้องทักทางซ้ายมือ ถือกันว่าเป็นลางดี

สิ่งปกติเกี่ยวกับสัตว์ ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในหมู่บ้าน เช่น เสือโคร่งเข้ามากินวัวควายในหมู่บ้าน หรือสัตว์ที่ปกติจะไม่เข้าในหมู่บ้านได้เข้ามาในหมู่บ้าน เป็นสัญญาณบอกว่าได้มีการกระทำผิดแบบแผนวัฒนธรรมอันดีงามเกิดขึ้นในหมู่บ้าน หากไต่สวนแล้วมีเหตุการณ์เช่นนั้นจริง คู่หนุ่มสาวที่ประพฤติผิดจะต้องทำพิธีขอขมาลาโทษ นำเอาดอกไม้ ธูปเทียน แป้ง ขมิ้น และน้ำ มาล้างเท้าผู้ใหญ่และผู้นำทางพิธีกรรมในหมู่บ้าน

สัตว์ที่มีสัจจะต่อคู่ของมันหลายชนิดจะได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกล่า เช่น นกกกดำ ซึ่งโดยความเชื่อทางศาสนาแล้ว ถือเป็นพาหนะของพระพุทธเจ้า และนกเงือกกรามช้าง คนกะเหรี่ยงเชื่อว่านกเหล่านี้หากคู่ของมันตายไป นกที่เหลืออยู่จะโศกเศร้าเสียใจจนตายไปด้วย การฆ่านกเหล่านี้ รวมถึงการฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง แรด สมเสร็จ ถือว่าเป็นบาปอย่างมาก จะทำให้เกิดไม่ทันยุคพระศรีอาริยะ

กรณีมิติแรก ความเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อกำลังสนทนากับลุงเนเต๊อะ เมื่อช่วงต้นฤดูฝน ปี 2549 พอดีมีเสียงกบชนิดหนึ่งร้องขึ้นมา ลุงเนเต๊อะบอกว่า กบชนิดนี้ตามปกติจะร้องตอนหน้าเกี่ยวข้าว แต่หลายปีมานี้สัตว์หลายชนิดร้องผิดฤดูกาล เรื่องนี้ยืนยันถึงภาวะเรือนกระจก (Green house effect) ที่มีผลกับนาฬิกาชีวภาพของสัตว์และสภาพแวดล้อม

ในเหตุการณ์ซึนามิ มีข่าวที่บอกชาวมอแกนบางกลุ่มรอดพ้นจากคลื่นซึนามิ จากการสังเกตความเป็นไปตามธรรมชาติและหลบหนี ตามองค์ความรู้ของชาติพันธ์ในลักษณะเดียวกัน ชาวมอแกนกลุ่มนี้อาจจะไม่ถูกทำลายโดยความรู้สมัยใหม่ ที่รู้จักธรรมชาติน้อยแต่ได้รับการขยายเป็นองค์ความรู้ของสังคมผ่านระบบการศึกษาปัจจุบัน

มิติที่ 2 สิ่งเหนือธรรมชาติ ในกรณีเสือโคร่งเข้ากินวัวควาย ตามที่คุณปิ่นแก้ว เล่านั้น ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดในบ้านกรูโบ เรื่องนี้มีรายละเอียดว่า เสือโคร่งมากินวัวควายครั้งนั้น ประมาณ 7 ตัว ตามความจริงไม่ใช่การกิน หากเป็นการทำร้ายและกัดที่อวัยวะเพศของวัวควาย แต่ไม่ได้กินเนื้อ ครั้งนั้นมีการสอบสวนพบว่ามีชายในหมู่บ้านที่มีภรรยาแล้วลักลอบได้เสียกับหญิงสาวอีกคน เมื่อให้ทำพิธีขอขมา ชายคนนั้นปฏิเสธจึงออกจากหมู่บ้านไป

ในบ้านกรูโบที่เป็นสถานที่ของงานศึกษาชิ้นนี้ถือกันว่าเป็นที่แรง ครูเจี๊ยบ (นฤมล แก้วสัมฤทธิ์)ครู กศน. สอนที่นี่ตั้งแต่ปี 2541 เล่าว่า ห้ามต้มเหล้าในหมู่บ้าน ถ้ามีการต้มเหล้า เสือโคร่งจะเข้ามาในหมู่บ้าน

การล่าสัตว์เพื่อจำหน่าย ลุงเนเต๊อะ ตอบว่า เป็นการกระทำผิดศีลธรรม เพราะการล่าสัตว์ต้องล่ามาเป็นอาหารเพื่อยังชีพเท่านั้น หมอหนวด หรือฉะเอง อดีตหมอประจำบ้านสมัยสงครามประชาชน ให้ความเห็นกับการล่าสัตว์เพื่อจำหน่ายว่า "ถ้าคนในเมืองไม่มาบอกเราว่าต้องการเขาสัตว์หรือหัวนก พวกเราก็คงไม่ไปล่า เพราะไม่รู้จะล่าทำไม" คล้ายกับโฆษณาของ discovery channel ที่บอกว่า ไม่มีคนซื้อ ก็ไม่มีคนล่า

อ้างอิง
(1) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง ศึกษากรณีชุมชนกะเหรี่ยง ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, กรุงเทพฯ, 2539, หน้า 110-112

 

ปรับปรุงข้อมูล 25 ธันวาคม 2549

ปันน้ำใจโครงการนักเรียนบ้านไกล โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม



รู้จักอุ้มผางในอีกมุมมอง จัดทำโดย widebase

ดูรายละเอียด

สงวนลิขสิทธิ์ (R) widebase