ปกากะญอและโพล่ว

Home

Widebase Tour
Knowledge Developer Database Internet Resource Forum
widebase tour
อุ้มผาง
ปกากะญอและโพล่ว
เดินทางท่องเที่ยว
 
ปกากะญอและโพล่ว
ความเชื่อและศีลธรรม
ประเพณี
วิถีชีวิต
 
ความเชื่อและศีลธรรม
ความเชื่อ
ขวัญ
สัตว์ในโลกทัศน์ของ ชาวปกากะญอและโพล่ว
ศีลธรรมของเพอเจะ
 

ประมวลภาพอุ้มผาง
ประเพณีปีใหม่เพอเจะ
งานบุญกวนน้ำนมข้าว
งานศพ
วิถีชีวิตชาวปกากะญอ 1
วิถีชีวิตชาวปกากะญอ 2

ดูรายละเอียด

ความเชื่อ

พื้นฐานความเชื่อของปกากะญอและโพล่วคือ ความเคารพธรรมชาติ สิ่งนี้แสดงออกในพิธีกรรม คำสอน ข้อห้าม และข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ประเพณีและงานฉลองสัมพันธ์กับธรรมชาติบนฐานของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

สิ่งที่ปรากฎให้เห็นถึงการนับถือผีที่ปกากะญอและโพล่วนับถือ ได้แก่ ผีเจ้าที่ และผีต่าง ๆ ที่สิงสถิตอยู่ตามป่า ภูเขา ลำห้วย ในไร่ และในหมู่บ้าน ฯลฯ ผีที่ถือกันว่าเป็นผีร้ายนั้นเชื่อว่าเป็นผีที่จะทำให้ประสบภัยพิบัติทั้งปวง จึงต้องมีการเอาอกเอาใจด้วยการเซ่นสังเวยด้วยอาหารต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ หมู ไก่ ฯลฯ (1) แต่งานวิจัยเรื่อง ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง ศึกษากรณีชุมชนกะเหรี่ยง ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ได้ประเมินความเชื่อนี้ในอีกมิติ (2)

ประการแรก คนกะเหรี่ยง (หมายถึงโพล่ว) ไม่ได้ "แยกธรรมชาติ" ออกจาก "สิ่งคุ้มครองธรรมชาติ" หรือในความจริงแล้วมันเป็นสิ่งเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละมิติ ในโลกทัศน์ของคนกะเหรี่ยง ธรรมชาติไม่ได้เพียง "วัตถุตามทางกายภาค" เท่านั้น หากมี "จิตวิญาณ" เช่นเดียวกับที่มนุษย์มี ระบบนิเวศน์ในความหมายของคนกะเหรี่ยงจึงกินความกว้างกว่าระบบนิเวศน์ทางกายภาพของ คน สัตว์ พืช แผ่นดิน แม่น้ำ

ประการที่ 2 การที่ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มี "จิตวิญญาณคุ้มครองอยู่" ไม่ได้เป็นเพียง "วัตถุทางกายภาพ" มนุษย์จึงไม่อาจครอบครอง "ธรรมชาติ" เป็นสมบัติของตนได้ คนกะเหรี่ยงตระหนักเสมอว่าตนเป็นเพียงผู้เข้ามาขอใช้ธรรมชาติเพื่อการยังชีพให้อยู่รอด ภายใต้จักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ มนุษย์มีเพียงตัวเปล่าที่ไม่มี "อำนาจ" อะไร และหากปราศจากธรรมชาติเหล่านี้แล้ว มนุษย์ย่อมไม่สามารถเป็นมนุษย์ได้ คนกะเหรี่ยงจึงมีวิถีปฏิบัติตนต่อธรรมชาติด้วยความเคารพยิ่ง ในฐานะผู้มีพระคุณและในฐานะที่สิ่งคุ้มครองธรรมชาติเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจบารมีเหนือมนุษย์

"ความเคารพ" ถือเป็นหัวใจของระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เพราะความเคารพนี้หมายถึงการปฏิบัติตนด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ หมายถึงการทำสิ่งที่ดีงาม ตามแบบแผนประเพณีที่จะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อธรรมชาติ ในความสัมพันธ์กับธรรมชาติจึงเต็มไปด้วยพิธีกรรมและข้อห้ามต่างๆมากมาย อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงการ " ขอใช้" และการ "ขอบคุณ" ธรรมชาติเพื่อดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีงาม

วิธีคิดเรื่อง "ความเคารพ" นี้เป็นเสมือนคู่ตรงข้ามกับวิธีคิดแบบ "อหังการ์" ของคนในสังคมสมัยใหม่ที่ถือตนเป็นผู้ "ครอบครองธรรมชาติ" คนกะเหรี่ยงไม่อาจมีความคิดในเชิง "อหังการ์" ต่อธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาตินั้นมีอำนาจเหนือมนุษย์ ความเป็นไปต่างๆได้ถูกวางไว้แล้ว การเดินตามครรลองที่ถูกต้องย่อมทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตมนุษย์และธรรมชาติดำเนินไปด้วยดี ในทางตรงข้ามความ "อหังการ์" นี้เองจะเป็นสิ่งที่นำภัยพิบัติมาสู่ตัวมนุษย์ในที่สุด

ประการที่ 3 คนกะเหรี่ยงไม่ได้แยกแบบแผนการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ และความเชื่อทางจริยธรรม ออกจากความเชื่อในเรื่องธรรมชาติ พวกเขาเชื่อว่าวิถีแห่งการเป็นกะเหรี่ยงที่แท้ และการเป็นสังคมพุทธ (แบบกะเหรี่ยง) จะช่วยให้สังคมกะเหรี่ยงและระบบธรรมชาติอยู่รอด

สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงแล้ว ศีลธรรม และพุทธศาสนาจะช่วยจรรโลงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศน์อันยิ่งใหญ่ไว้ สิ่งนี้จึงเป็นทั้งเครื่องมือและเป้าหมายแห่งชีวิตคนกะเหรี่ยง ในขณะที่สำหรับคนในสังคมเมืองนั้น กฎหมายเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองธรรมชาติไว้ได้

งานชิ้นนี้ศึกษาเจาะลึกที่บ้านกรูโบและเชื่อว่าข้อมูลหลักมาจากการสัมภาษณ์ลุงเนเต๊อะบ้านกรูโบ เนื่องจากได้รับฟังคำอธิบายที่คล้ายกัน

การศึกษาชิ้นนี้ทำให้เห็นภาพของชาวปกากะญอและโพล่วต่อหลักคิด หรือปรัชญาพื้นฐานที่แสดงความสัมพันธ์กับธรรมชาติและการดำรงชีวิตภายใต้ความสัมพันธ์นี้ รวมถึงการแสดงออกในด้านประเพณี พิธีกรรม

อ้างอิง
(1) พระสถาพร สุทฺธจิตฺโต , กะเหรี่ยง , http://se-ed.net/watwiwek/hilltribe/Karen.htm
(2) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง ศึกษากรณีชุมชนกะเหรี่ยง ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, กรุงเทพฯ, 2539, หน้า 96-98

 

ปรับปรุงข้อมูล 25 ธันวาคม 2549

ปันน้ำใจโครงการนักเรียนบ้านไกล โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม



รู้จักอุ้มผางในอีกมุมมอง จัดทำโดย widebase

ดูรายละเอียด

สงวนลิขสิทธิ์ (R) widebase