![]() |
อุ้มผาง |
Widebase Tour |
|
ประมวลภาพอุ้มผาง |
||||||||||||||||||
ตำนานการอพยพของชาวปกากะญอเว็บไซต์คนดอย บอกว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของปกากะญออยู่บริเวณมองโกเลีย เมื่อกว่า 20,000 ปีมาแล้ว ต่อมาได้หนีภัยสงครามมาอยู่ที่ธิเบต และเมื่อถูกรุกรานจากกองทัพจีนก็ถอนลงมาทางใต้เรื่อยๆ จนกระทั่งลงมาถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำสาละวินในเขตพม่า ปกากะญอเป็นกลุ่มชนชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่หนาแน่นในบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย ปกากะญอในประเทศไทยเป็นปกากะญอที่อพยพจากประเทศพม่าทั้งสิ้น จากหลักฐานศิลาจารึกโบราณที่ค้นพบในพม่าระบุว่า ชนเผ่าปกากะญอตั้งหลักแหล่งอยู่ในพม่ามานานประมาณ 600-700 ปีแล้ว ในสมัยก่อนที่ไทยกับพม่าจะแบ่งพรมแดนกันอย่างชัดเจน แม้กระทั่งทุกวันนี้ ยังมีหัวเมือง บางแห่งทางภาคเหนือของไทยที่มีชื่อเป็นภาษาปกากะญอ ชนเผ่าปกากะญออีกส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามา อยู่ในเขตแดนไทยเมื่อประมาณ 300 กว่าปีที่ผ่านมา (1) จอวาเอ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่จัน บ้านทิจอชี เล่าว่า ถิ่นฐานของชาวปกากะญออยู่ใน "มาบูหลุ" เมื่อ 5,000 ปีก่อน (สันนิษฐานว่า มาบูหลุ อยู่ในอิหร่าน) ต่อมาได้อพยพมาที่ปากีสถานประมาณ 100 ปี จากนั้นเดินทางข้ามทะเลทรายโกบีไปอยู่ที่มองโกเลียประมาณ 300 ปี แล้วเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในธิเบตประมาณ 500 ปี จากที่ได้ย้ายไปยังยูนานเป็นเวลา 500 ปี หลังจากถูกจีนขับไล่ พวกเขาได้อพยพมาตามแม่น้ำสาละวินและอาศัยในบริเวณปัจจุบันมาประมาณ 2,500 ปี จอวาเอ เล่าถึงตำนานลงใต้ว่า เมื่อสมัยอยู่ที่ยูนาน พระเจ้าแผ่นดินพยายามกลืนชาติ จีนจะทำการแต่งตั้งผู้ปกครองให้กับแต่ละชาติพันธ์ ชาวปกากะญอไม่ยอมจึงถูกจีนข่มขู่ทำให้ต้องอพยพหนี ในการอพยพครั้งได้ทำพิธีมัดข้อมือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชาติพันธ์ แล้วอพยพลงมาที่ตองอู พะโค และเมาะตะมะ เมื่อมาถึงพื้นที่แถบนี้ เพอหม่อต๊อออกไปหาปลา พบว่าบริเวณนี้ไม่เคยมีใครอาศัยอยู่ ป่าและต้นไม้ไม่มีรอยมีดบาก จึงแก้เบ็ดแล้วปักคันเบ็ดข้างขอนไม้เพื่อจองที่ และแขวนเสื้อไว้ แม่ก่อกองทรายข้างจอมปลวก ต่อมาฝรั่งมาเห็นที่บริเวณนี้จึงคิดจองที่ด้วยทองเหลือง 9 แผ่น แต่เมื่อเห็นคันเบ็ดก็รู้ว่ามีคนจองแล้ว จึงขุดดินวางแผ่นเหลืองแล้วปักคันเบ็ดไว้ตามเดิม หลังจากนั้นพม่ามาเห็นที่และเห็นคันเบ็ด แต่อยากที่บริเวณนี้ จึงขุดดินพบแผ่นทองเหลืองอีก พวกเขาเอาแผ่นออกวางเมล็ดถั่ว 9 ปี๊บแล้ววางแผ่นทองเหลืองและปักคันเบ็ดจามเดิม มอญเป็นกลุ่มสุดท้ายที่มาถึงก็ทำแบบเดียวกัน โดยวางเหล็ก 9 ชิ้นไว้ใต้สุด วางเมล็ดถั่ว ทองเหลือง และปักคันเบ็ดตามเดิม จากตำนานนี้จึงมีที่มาของเจดีย์ก่อด้วยดินหรือโขะ หมายถึงแม่ และช่าโดะก้าหรือท่อนไม้ไผ่ที่ทำเป็นเสามาจากคันเบ็ด หมายถึงพ่อ ทั้งโขะและช่าโดะก้า เป็นส่วนประกอบของพิธีปีใหม่เพอเจะ อ้างอิง (1) ทวีรัฐ ตั้งอิสราวุฒิกุล , กะเหรี่ยง, http://my.kid-d.com/khondoy/web/karieng_index.html
|
||||||||||||||||||
สงวนลิขสิทธิ์ (R) widebase |