![]() |
ปกากะญอและโพล่ว |
Widebase Tour |
|
ประมวลภาพอุ้มผาง |
|||||||||||||||||
การทำไร่หมุนเวียนการเก็บเกี่ยวหลังจากหยอดข้าวแล้ว เจ้าของต้องดายหญ้าประมาณ 3 รอบ รอบแรกในเดือนกรกฎาคม รอบที่ 2 เดือนสิงหาคม ในรอบแรกและรอบที่ 2 มักจะต้องทำต่อเนื่องกัน เพราะวัชพืชโตเร็ว และต้นข้าวยังเล็ก รอบที่ 3 เดือนกันยายน เป็นการดายหญ้าเฉพาะวัชพืชต้นใหญ่ เพราะช่วงนี้ต้นข้าวสูงมากแล้ว รอบนี้จึงทำได้เร็ว ข้าวไร่จะสุกประมาณปลายเดือนตุลาคม ชาวบ้านจะทำการเก็บเกี่ยว ในอดีตการเกี่ยวข้าวและตีข้าวจะเป็นการลงแขกเกี่ยวข้าว หลังจากการเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เจ้าของไร่จะรวบรวมข้าวด้วยการแบกข้าว การแบกจะกองมัดข้าวในเสื่อลำแพนที่เตรียมช่วงเดือนกันยายน แล้วแบกไปกองรวมกัน
เมื่อกองข้าวเสร็จแล้ว ทุกคนในหมู่บ้านจะไปตีข้าว ระหว่างการตีข้าวจะมีการร้องเพลงโต้ตอบระหว่างหนุ่มสาว ในพื้นที่ที่ไม่ได้นับถือเพอเจะจะมีการกินเหล้า ช่วงการเก็บเกี่ยวในอดีตจึงเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข สนุกสนาน สำหรับข้าวนา ตามปกติใช้ควายนวด ชาวบ้านจะไปที่ลานข้าวเหมือนการตีข้าวไร่ แต่กิจกรรมมีน้อยกว่า ปัจจุบันการลงแขกเกี่ยวข้าวและตีข้าวหายไปหมดแล้ว การตีข้าวเริ่มเปลี่ยนการใช้รถตีข้าวแทน หลังจากตีข้าวเสร็จจะเก็บข้าวเข้ายุ้ง ก่อนเก็บข้าวจะทำพิธีขอบคุณกับพิบุ๊โยที่ช่วยคุ้มครองและดูแลต้นข้าวมาทั้งปี เจ้าของไร่จะจัดดอกไม้ อาหาร เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง ใส่ในตระกร้า เพื่อเลี้ยงพิบุ๊โยบนยุ้งข้าวที่ยังไม่มุงหลังคาและเชิญพิบุ๊โยกลับคืนสวรรค์ ในช่วงพิธีขอบคุณ เจ้าของไร่จะอธิษฐานล่วงหน้าให้พิบุ๊โยได้กลับมาคุ้มครองในฤดูการผลิตต่อไป ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร พันธุ์ข้าวพื้นเมืองมีอยู่มากมาย ตามปกติในไร่แต่ละผืนจะมีข้าวปลูกอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ ในแต่ละหมู่บ้านจะมีมากกว่า 10 สายพันธุ์ การเลือกพันธุ์ข้าวขึ้นกับพื้นที่ไร่และการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ตัวอย่าง ชาวบ้านกรูโบ หมู่ 8 ตำบลแม่จัน บอกว่าเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2547) ฝนแล้งเร็วทำให้ผลผลิตไม่ดี ข้าวลีบปีนี้จึงเปลี่ยนเป็นพันธุ์ข้าวที่สุกเร็ว ปรากฎว่า ฝนในปีนี้ (พ.ศ. 2548) มาช้าและตกนาน จนถึงเดือนพฤศจิกายน ทำให้ข้าวที่เกี่ยวแล้วต้องตากแดดและตากฝน คุณภาพข้าวต่ำ ถึงแม้ว่าปีนี้ผลผลิตจะดี เมื่อเวลาตำข้าว ข้าวจะแหลกไม่ค่อยเป็นเม็ด ในอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ฝนที่นั่นน้อยกว่าลุ่มแม่จัน พันธุ์ข้าวจึงเป็นพันธุ์ข้าวทนแล้ง นอกจากข้าว พันธุ์พืชที่ปลูกในไร่ยังมีหลายสิบชนิด ดังนั้นในแต่ละไร่จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่มีความจำเป็นใช้ยาปราบศัตรูพืช พิธีกรรมเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกเนื่องจากการผลิตเป็นสิ่งสำคัญต่อดำรงอยู่ ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความเคารพต่อธรรมชาติ พิธีกรรมชุดนี้รวบรวมพิธีกรรมของชาวปกากะญอ โดย พิพิธภัณฑ์ชาวเขา online 1. กินเชื้อข้าว เชื้อข้าวที่เหลือจากการหว่านข้าวเจ้าของไร่จะกลับไปต้มเหล้า เรียกชายหนุ่มและหญิงสาวที่ปักหลุม และหยอดข้าวแรกมาดื่มด้วย พร้อมกับขอเชิญผู้เฒ่าผู้หนึ่งมาทำพิธีรินหัวเหล้าและอธิฐานขอพรจากเทพยดา ให้ลงมาดื่มหัวเหล้าและมาโปรดให้ข้าวเจริญงอกงามดี พิธีกรรมนี้เรียกว่า "พิธีกินเชื้อข้าว" 2. พิธีเลี้ยงผีไร่ เมื่อข้าวงอกงามเขียวชะอุ่มเต็มท้องไร่อายุประมาณ 2 เดือน จะมีพิธีอีกอย่างหนึ่งคือพิธีเลี้ยงไร่ พิธีเลี้ยงไร่มีพิธีย่อยอีกหลายพิธีแยกตามวัตถุประสงค์ ได้แก่พิธีเลี้ยงไร่ขอพร พิธีเลี้ยงไร่ปัดรังควาญ พิธีเลี้ยงไฟ พิธีเลี้ยงขวัญข้าว และพิธีเลี้ยงไร่ไล่ความชั่ว ทั้งหมดนี้จะใช้เครื่องเซ่นไหว้ และการทำพิธีจะเหมือนกัน แต่จะต่างกันที่คำอธิฐาน ซึ่งได้บ่งบอกถึงวัตถุประสงค์ของแต่ละพิธีเอาไว้ 3. พิธีเลี้ยงผีไร่ขอพร พิธีเลี้ยงไร่ขอพรเป็นพิธีย่อยขั้นแรก วัตถุประสงค์เพื่อขอพรจากเทพยดาให้ลงมาโปรดให้ข้าวงอกงามเจริญเติบโตและได้ผลผลิตที่ดี เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีประกอบด้วยไก่หนึ่งตัว เหล้าสองขวด หมากสองคำ บุหรี่สองมวน พริก เกลือและปูนขณะทำพิธีจะมีการอธิฐานดังนี้ "เจ้าแห่งโลกเจ้าแห่งแผ่นดินเอ๋ย วันนี้เลี้ยงท่าน โปรดลงมาดื่มหัวเหล้ากินหัวข้าวด้วยเถิด จงบันดาลให้ข้าวเจริญงอกงามดี เพื่อข้าและครอบครัวจะได้เป็นเจ้าของยุ้งเจ้าของฉางด้วยเถิด 4. พิธีเลี้ยงไร่ปัดรังควาญ คำอธิฐานของพิธีกล่าวว่า "ไร่เอ๋ยขณะที่ข้าทำมาหากินบนเจ้าอาจจะมีสัตว์ป่า เก้งร้องทัก เสือร้องทัก งูเลื้อยผ่าน ตะขาบเลื้อยข้าม ทำให้เจ้าได้รับความเดือดร้อน วันนี้ข้ามาเลี้ยงปัดรังควาญให้เจ้า ให้เจ้าจงได้รับความสงบร่มเย็นกลับคืนมาด้วยเถิด" 5. พิธีเลี้ยงเทพอัคคี คำอธิฐานของพิธีกล่าวว่า "ไฟเอ๋ย ใช้เจ้าให้เผาไหม้รอยมีดรอยขวาน ตนไม้นอนราบต้นไผ่นอนลง ทำให้เจ้ามีความรุ่มร้อน วันนี้ข้ามาเลี้ยงเจ้าให้สงบและเย็นลง อย่างได้ร้อนถึงข้าว อย่างได้ร้อนถึงพืชพรรณต่างๆในไร่เลย" 6. พิธีเลี้ยงเทพขวัญข้าว คำอธิฐานของพิธีกล่าวว่า " ปรือ..ขวัญข้าวเอ๋ย จงกลับมาเถิด พันธุ์ข้าวสิบอย่าง พันธุ์ข้าวจากทิศเหนือ จากทิศไต้ ขอจงกลับมาวันนี้ กลับมาอยู่ในไร่กลับมาอยู่ในนา ให้กลับมาอุดมสมบรูณ์เต็มท้องไร่ด้วยเถิด 7. พิธีไล่ความชั่วในไร่ คำอธิฐานของพิธีกล่าวว่า " ไร่เอ๋ย วันนี้ข้ามาเลิ้ยงเจ้าเพื่อปัดเป่าความชั่วร้ายให้หมดสิ้นไป ปัดเป่านก ปัดเป่าหนู ปัดเป่าปลวกให้ออกไป หากมีสิ่งใดมากินเจ้า ขอให้ความเหี่ยวเฉาจงตามสิ่งนั้นไปเถิด"
อ้างอิง (1) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง ศึกษากรณีชุมชนกะเหรี่ยง ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, กรุงเทพฯ, 2539, หน้า 67 (2) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อ้างแล้วใน (1) หน้า 67 68 (3) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อ้างแล้วใน (1) หน้า 80 81 (4) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อ้างแล้วใน (1) หน้า 81 82 (5) พิพิธภัณฑ์ชาวเขา online, การทำไร่หมุนเวียน, http://www.hilltribe.org/thai/karen/karen-karenandelephant.php (6) พิพิธภัณฑ์ชาวเขา online , การทำไร่หมุนเวียน, อ้างแล้วใน (5) (7) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อ้างแล้วใน (1) หน้า 92 93
ปรับปรุงข้อมูล 25 ธันวาคม 2549 |
ปันน้ำใจโครงการนักเรียนบ้านไกล โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม | ||||||||||||||||
สงวนลิขสิทธิ์ (R) widebase |